top of page
รูปภาพนักเขียน๋Jirasak Kaenkaew

การนอนสำคัญอย่างไร

หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนอนเท่าที่ควร ที่กล่าวเช่นนี้เพราะจะเห็นว่าหลายๆ คนมักจะนอนดึก นอนหลังเที่ยงคืน หรือเข้านอนใกล้รุ่ง บางคนแบกเอาความเครียด ความกังวลไว้ทำให้นอนไม่หลับ หรือบางคนมีปัญหาสุขภาพร่างกาย ส่งผลให้การนอนไม่มีคุณภาพ ในระยะยาวย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก



การนอน คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดและจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง การนอนเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายใช้เวลาในการฟื้นฟู เยียวยาเซลล์และอวัยวะสำคัญในร่างกายให้กลับมามีความพร้อมในการดำรงชีวิตในวันต่อไป การนอนยังมีความสำคัญต่อเซลล์และอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะสมอง ซึ่งในช่วงที่เราหลับเซลล์สมองจะมีการฟื้นฟู และปรับปรุงระบบการทำงานของสมองรวมทั้งสารสื่อประสาทต่างๆ ที่ถูกหลั่งออกมาในระดับที่แตกต่างกันในช่วงที่เราตื่น เมื่อนอนหลับอย่างเพียงพอจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในตอนเช้า ช่วยให้ใบหน้าแลดูสดใส ไม่หมองคล้ำและช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความจำ หรือระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น



นอนนานแค่ไหนจึงเพียงพอ ?

โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน สุขภาพโดยรวม และคุณภาพการนอนของแต่ละคน เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มักใช้อายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้

  • ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน ควรนอนหลับ 14-17 ชั่วโมง

  • ทารกอายุ 4-11 เดือน ควรนอนหลับ 12-15 ชั่วโมง

  • เด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอนหลับ 11-14 ชั่วโมง

  • เด็กอายุ 3-5 ปี ควรนอนหลับ 10-13 ชั่วโมง

  • เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับ 9-11 ชั่วโมง

  • วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง

  • ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมง

  • ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง



ประโยชน์ของการนอน

การนอนไม่พอส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน ขณะเดียวกันการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็ส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการ ดังนี้

  1. เสริมสร้างสมาธิ การนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีสมาธิมากขึ้น จดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่าคุณภาพการนอนที่ดีอาจช่วยให้มีทักษะการแก้ปัญหาสูงขึ้นด้วย

  2. ช่วยให้อารมณ์ดี การนอนหลับมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และสุขภาพจิตมากกว่าที่หลายคนคิด โดยการนอนหลับที่เต็มอิ่มและเพียงพออาจช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและอารมณ์ดีขึ้นได้ ในขณะที่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการนอนไม่พออาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิตชนิดอื่น ๆ มากกว่าปกติ

  3. เสริมสร้างความสุขทางเพศ การนอนน้อยอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติและส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ชายที่นอนไม่พออาจมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม และช่วยให้ผู้ชายเกิดความต้องการทางเพศ การนอนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจึงอาจช่วยให้มีสุขภาพทางเพศที่ดีและส่งเสริมให้ความสัมพันธ์กับคนรักราบรื่นยิ่งขึ้น

  4. เพิ่มภูมิคุ้มกัน การนอนหลับให้เพียงพออาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดของผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง กับผู้ที่นอนหลับ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งพบว่ากลุ่มที่นอนน้อยกว่าเสี่ยงเป็นหวัดสูงกว่ากลุ่มผู้ที่นอนมากกว่าถึง 3 เท่า

  5. ช่วยควบคุมน้ำหนัก การนอนไม่พออาจทำให้ฮอร์โมนเลปตินมีปริมาณลดลง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณฮอร์โมนเกรลินที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารให้สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้ที่นอนน้อยรู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ และมีแนวโน้มเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงมากขึ้น

  6. ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพออาจเสี่ยงต่ออาการหลับใน ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมาได้ โดยเฉพาะเมื่อขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร

  7. ลดอาการปวด มีงานวิจัยพบว่าการนอนหลับที่เพียงพออาจช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เพราะจะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนและมีเวลาฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่ผิดปกติได้อย่างเต็มที่ แต่หากอาการปวดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนอย่างทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น


ผลเสียของการอดนอน

การอดนอน ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมากมายมากมาย คนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ การนอนไม่มีคุณภาพ มักจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพแตกต่างจากคนที่นอนหลับเพียงพอ หรือ การนอนมีคุณภาพมากกว่า เช่น ระยะเวลาในการนอนเท่ากัน แต่ การหลับสนิทโดยที่ไม่มีอาการหลับๆ ตื่น หรือ ไม่มีอาการที่เรียกว่า “ความฝัน” มารบกวน จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูสุขภาพและมีการทำงานทำงานของอวัยวะสำคัญในช่วงหลับ รวมทั้งการหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นในช่วงของการหลับได้ดีมากกว่า ดังนั้นผลเสียของการอดนอนมีดังนี้

1. ทำให้สมองทำงานหนักและทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง เพราะการอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดไป เช่นที่สมองส่วนหน้าสุด (prefrontal cortex) จะทำให้การเรียนรู้จากคำพูด (verbal learning tasks) แย่ลง ส่วนกลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal lobe) จะทำให้การเรียนรู้ด้านภาษา (language processing) ช้าลง

2. ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทจะมีประสิทธิภาพลดลง โดยอวัยวะที่สำคัญคือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาวซึ่งอวัยวะชิ้นนี้จะทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้นและจะทำงานได้ดีหากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

3. ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิต เพราะ การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิต (psychosis) ได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ระแวงกลัวคนมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) เช่นมีอารมณ์ร่าเริงสนุกสนานผิดปกติ หรือมีอารมณ์เศร้าผิดปกติได้ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย หรืออารมณ์เสียง่ายมากน้อยตามแต่ความรุนแรงของการอดนอนนั้น

4. ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยการอดนอนจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้น ซึ่งเลือดจะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นและเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะสลายตัวในเวลาต่อมาจึงทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสเสียไป รวมถึงสารเมลาโทนินถูกสร้างน้อยลง ซึ่งสารเมลาโทนินนี้เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระต่างๆ และสารเมลาโทนินจะถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ถ้าเราอดนอนหรือนอนน้อยก็จะทำให้มีการสร้างสารนี้ลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือภูมิแพ้ของผิวหนังได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

5. ทำให้มีปัญหาสุขภาพ เพราะกลไกตามธรรมชาติจะเสียสมดุล เช่น ระบบการย่อยอาหารผิดปกติมีการหลั่งกรดมากขึ้น ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบฮอร์โมนหลั่งผิดปกติเช่น การผลิตสารเลปติน (Leptin) น้อยลงซึ่งเลปตินมีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร เพราะฉะนั้นยิ่งเราอดนอน เลปตินก็จะถูกผลิตออกมาน้อยลงทำให้เรามีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น เช่นอยากทานขนมหวาน และอาหารมันๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมและลดน้ำหนักได้



เคล็ดลับช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน

ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นต้น สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้คุณภาพในการนอนดีขึ้น

  1. พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน

  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงใกล้เวลาเข้านอนมากจนเกินไป

  3. หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงบ่ายและก่อนเข้านอน

  4. ไม่ควรรับประทานอาหารปริมาณมากภายใน 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงอาหารมื้อเย็นที่มีรสจัด

  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้มีอาการถอนบุหรี่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับจนนอนได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจชนิดต่าง ๆ อย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลงได้

  6. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน เพราะแสงไฟจากหน้าจออาจกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น

  7. ปิดไฟก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น


ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการผิดปกติทางการนอนยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป

ดู 0 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page